Milner (of Saint James’s and Cape Town), Alfred Milner, 1st Viscount (1854-1925)

อัลเฟรด มิลเนอร์ ไวสเคานต์ มิลเนอร์ที่ ๑ แห่งเซนต์เจมส์และเคปทาวน์ (๒๓๙๖-๒๔๙๘)

​​​

     อัลเฟรด มิลเนอร์ เป็นผู้บริหารอาณานิคมอังกฤษที่มีความสามารถ เป็นคนที่แน่วแน่ในความคิดของตนจนมีส่วนผลักดันให้เกิดสงครามระหว่างอังกฤษกับพวกบัวร์ในแอฟริกาใต้ครั้งที่ ๒ ( ค.ศ. ๑๘๙๙-๑๙๐๒) ชัยชนะในสงครามนี้ทำให้อังกฤษขยายอิทธิพลมากขึ้นในดินแดนที่อุดมด้วยแร่ทองคำและทำให้มิลเนอร์ได้รับบรรดาศักดิ์ไวส์เคานต์ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เขาได้ร่วมในรัฐบาลของเดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* และได้เป็นผู้แทนอังกฤษไปร่วมลงนามในการทำสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)
     มิลเนอร์เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๕๔ ที่เมืองกีสเซิน (Giessen) ราชรัฐเฮสส์-ดาร์มชตัดท์ (Hesse-Darmstadt) ในสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ (North German Confederation)* เขามีเชื้อสายเยอรมันเพราะปู่ซึ่งเป็นชาวอังกฤษได้ไปตั้งรกรากในดินแดน เยอรมันและสมรสกับหญิงสาวชาวเยอรมัน บิดาคือนายแพทย์ชาลส์ มิลเนอร์ (Charles Milner) ผู้เคยประกอบวิชาชีพในกรุงลอนดอนก่อนที่จะไปเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยทือบิงเงิน (Tübingen) ส่วนมารดาเป็นบุตรสาวของพลตรีเรดดี (Ready) ซึ่งเคยเป็นผู้ว่าราชการเกาะแมน (Isle of Man) ดินแดนในปกครองของอังกฤษที่ตั้งอยู่ในทะเลไอริช มิลเนอร์เริ่มการศึกษาที่เมืองทือบิงเงินก่อนที่จะไปศึกษาต่อในกรุงลอนดอน เขาเป็นคนที่เรียนเก่ง เฉลียวฉลาดจึงได้รับทุนเล่าเรียนหลายทุนเมื่อไปเรียนที่บัลเยิลคอลเลจ (Balliol College) แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๒-๑๘๗๖ มิลเนอร์จบการศึกษาใน ค.ศ. ๑๘๗๗ โดยได้เกียรตินิยมอันดับ ๑ สาขาวิชาคลาสสิก และได้รับเลือกให้เป็นอาจารย์สอนที่นิวคอลเลจ (New College) ของมหาวิทยาลัยนี้ ใน ค.ศ. ๑๘๘๑ เขาเริ่มทำงานทางด้านกฎหมายหลังจากได้เป็นเนติบัณฑิตจากสำนักอินเนอร์เทมเปิล (Inner Temple) แต่ต่อมาไม่นานก็หันสู่งานหนังสือพิมพ์ โดยเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Pall Mall Gazette ของจอห์น มอร์ลีย์ (John Morley) ใน ค.ศ. ๑๘๘๕ หลังจากที่ไม่ประสบความสำเร็จในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญสังกัด พรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* ของเขตแฮร์โรว์ (Harrow) ในมณฑลมิดเดิลเซกซ์ (Middlesex) มิลเนอร์ก็ไปเป็นเลขานุการส่วนตัวของจอร์จ โจอาคิม โกเชน (George Joachim Goschen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โกเชนสนับสนุนให้เขาได้รับตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังของอียิปต์ใน ค.ศ. ๑๘๘๙ เพราะขณะนั้นอังกฤษได้รับสิทธิจากสุลต่านออตโตมันให้ควบคุมดูแลการคลังของอียิปต์ เขาทำงานอยู่ที่อียิปต์จนถึง ค.ศ. ๑๘๙๒ และประสบความสำเร็จอย่างดีในการกอบกู้ฐานะการเงินของอียิปต์ที่อยู่ใกล้ภาวะล้มละลายด้วยการปฏิรูปการคลังครั้งใหญ่ ทำให้เขาได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมสรรพากรของอังกฤษระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๒-๑๘๙๗ ซึ่งในช่วงนี้ เขาได้ใช้ประสบการณ์จากการทำงานที่อียิปต์พิมพ์หนังสือเรื่อง England in Egypt ซึ่งสนับสนุนให้อังกฤษเพิ่มบทบาทในอียิปต์ หนังสือเล่มนี้กลายเป็นเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานของอังกฤษในอียิปต์ นอกจากนี้ มิลเนอร์ยังได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นขุนนางด้วยใน ค.ศ. ๑๘๙๕
     ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๙๗ โจเซฟ เชมเบอร์เลน (Joseph Chamberlain)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมได้เลือกมิลเนอร์ซึ่งมีทัศนะสนับสนุนนโยบายจักรวรรดินิยมอังกฤษอย่างแรงกล้าให้รับตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ของแอฟริกาใต้และผู้ว่าราชการเคปโคโลนี (Cape Colony)* แทนลอร์ดโรสมีด (LordRosemead) ซึ่งลาออกจากทั้ง ๒ ตำแหน่ง มิลเนอร์ซึ่งใฝ่รู้ก็เตรียมความพร้อมในการรับหน้าที่ใหม่ของตนด้วยการเรียนภาษาดัตช์ เพราะที่ แอฟริกาใต้มีพวกบัวร (Boer) ซึ่งมีเชื้อสายดัตช์อยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งยังเรียนภาษาตาล (Taal) ซึ่งเป็นภาษาพื้นเมืองของที่นั่นด้วยในช่วงเวลาที่มิลเนอร์ไปรับตำแหน่งนั้น ความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับสาธารณรัฐทรานสวาล (Transvaal) ในแอฟริกาใต้ใกล้จะปะทุเป็นเหตุการณ์รุนแรงอยู่แล้วเพราะประธานาธิบดีพอล ครูเกอร์ (Paul Kruger) ของทรานสวาลไม่วางใจในท่าทีของอังกฤษนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์การจู่โจมของเจมสัน (Jameson Raid)* เมื่อ ๒ ปีก่อน ครูเกอร์เชื่อว่ารัฐบาลอังกฤษต้องรับรู้เป็นนัย ๆ อย่างแน่นอนก่อนที่ลีนเดอร์ เจมสัน (Leander Jameson) ผู้บริหารบริษัทบริติชแอฟริกาใต้ (British South Africa Company) ของเซซิล โรดส์ (Cecil Rhodes)* ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าราชการเคปโคโลนีจะนำกำลังทหารม้ารับจ้าง ๕๐๐ คนจากเบชัวนาแลนด [ (Bechuanaland) ปัจจุบันคือ บอตสวานา (Botswana)] บุกเข้าสู่ทรานสวาลซึ่งได้เปลี่ยนจากรัฐที่ยากจนที่สุดมาเป็นรัฐมั่งคั่งที่สุดในแอฟริกาใต้ภายในเวลา ๑๐ ปี เพราะการพบแร่ทองคำใน ค.ศ. ๑๘๘๕ การจู่โจมล้มเหลวเพราะขาดการประสานงานภายในกับชาวต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอังกฤษในทรานสวาลที่เรียกว่าพวกออยต์ลันเดอร์ (Uitlanders; foreigners) ให้ลุกฮือขึ้นพร้อมกัน
     เมื่อครูเกอร์ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกวาระหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๙๘ มิลเนอร์จึงสรุปว่าปัญหายุ่งยากทางการเมืองในแอฟริกาใต้ที่พวกออยต์ลันเดอร์ถูกพวกบัวร์กีดกันไม่ให้สัญชาติคงจะไม่มีทางแก้ไขสงครามกลางเมืองจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนเว้นเสียแต่จะมีการปฏิรูปในทรานสวาลขึ้นก่อน มิลเนอร์เห็นว่าพวกบัวร์จะต้องปฏิบัติต่อพวกออยต์ลันเดอร์ใน ทรานสวาลอย่างเป็นธรรมมากขึ้นหรือให้สิทธิพวกออยต์ลันเดอร์เท่าเทียมกับคนท้องถิ่น มิลเนอร์เสนอว่ารัฐบาลของครูเกอร์ควรให้สิทธิพลเมืองเต็มขั้นแก่ออยต์ลันเดอร์ที่ เข้าไปตั้งถิ่นฐานครบ ๕ ปี ทั้ง ๒ ฝ่ายได้เจรจากันที่บลูมฟอนเทน (Bloemfontein) ระหว่างวันที่ ๓๑ พฤษภาคม -๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๙๙ แม้ครูเกอร์จะมีท่าทีโอนอ่อนแต่มิลเนอร์ค่อนข้างแข็งกร้าวและยืนหยัดในข้อเรียกร้อง การเจรจาจึงไม่เป็นผลใด ๆ มิลเนอร์เชื่อว่าวิถีทางเดียวที่จะแก้ปัญหาคืออังกฤษจะ ต้องใช้กำลังในการยืนยันสถานะของตนที่เหนือกว่าสาธารณรัฐใด ๆ ในแอฟริกาใต้ เขารายงานไปยังรัฐบาลอังกฤษว่าแม้จะเป็นเรื่องที่แย้งกันอยู่ในที แต่การที่จะช่วยชาวอังกฤษในทรานสวาลก็คือ ต้องให้พวกเขายุติการเป็นพลเมืองอังกฤษและได้สิทธิของการเป็นพลเมืองทรานสวาล เมื่อมิลเนอร์ไม่ได้มีท่าทีพร้อมจะประนีประนอมในระหว่างการเจรจาวันที่ ๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๙๙ พวกบัวร์จึงยื่นคำขาดให้อังกฤษถอนกำลังออกไปจากพรมแดนทรานสวาลภายใน ๔๘ ชั่วโมง เมื่อฝ่ายอังกฤษไม่ยอมถอนกำลัง เสรีรัฐออเรนจ์ (Orange Free State) ซึ่งลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับทรานสวาลแล้วตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๙๖ ก็ร่วมกับทรานสวาลประกาศสงครามต่ออังกฤษในวันที่ ๑๑ ตุลาคม โดยส่งกำลังบุกเข้าไปในเคปโคโลนีและนาตาล ครูเกอร์เองก็เตรียมพร้อมมานานพอควรโดยสั่งซื้ออาวุธจากเยอรมนีจึงเกิดสงครามบัวร์ (Boer War)* ครั้งที่ ๒ หรือเป็นที่รู้จักกันว่า สงครามแอฟริกาใต้ (South African War) ขึ้น
     ระหว่างสงครามดำเนินไป ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๑ อังกฤษก็ได้ผนวกเสรีรัฐออเรนจ์และทรานสวาลเข้ามาเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของตนมิลเนอร์จึงได้สละตำแหน่งผู้ว่าราชการเคปโคโลนี และเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้บริหาร (administrator) ดินแดนของพวกบัวร์ทั้ง ๒ แห่งดังกล่าว ขณะที่ยังคงดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ของแอฟริกาใต้อยู่ด้วย มิลเนอร์ และลอร์ดฮอเรชีโอ เฮอร์เบิร์ต คิชเนอร์ (Lord Horatio Herbert Kitchener)* ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้เจรจาทำความตกลงสันติภาพที่กรุงพริทอเรีย (Pretoria) จนนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาเวเรนิกิง (Treaty of Vereeniging)* ที่มิลเนอร์เป็นผู้ร่างในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๒ สนธิสัญญานี้ยุติทั้งสงครามบัวร์และความเป็นเอกราชของสาธารณรัฐบัวร์ทั้ง ๒ แห่งแต่อังกฤษจะส่งเสริมให้รัฐทั้งสองมีการปกครองตนเองในเวลาที่เหมาะสมต่อไป การปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพของมิลเนอร์ในแอฟริกาให้แก่รัฐบาลอังกฤษส่งผลให้เขาได้รับบรรดาศักดิ์ชั้นบารอนใน ค.ศ. ๑๙๐๑ และไวส์เคานต์ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๒
     หลังจากนั้นไม่นาน มิลเนอร์ได้เสนอแนวทางการปกครองอาณานิคม ๒ แห่งที่ได้มาใหม่และเปลี่ยนตำแหน่งตนเองจากผู้บริหารเป็นผู้ว่าราชการ (governor) หลังสงครามเขาทุ่มเทตนเองให้แก่การฟื้นฟูดินแดน ๒ แห่งซึ่งเป็นภารกิจที่เหน็ดเหนื่อยมากพอควรมิลเนอร์เก็บภาษีร้อยละ ๑๐ จากปริมาณทองคำสุทธิที่ผลิตในแต่ละปี และมุ่งมั่นที่จะจัดส่งพวกชาวนาบัวร์กลับสู่ที่ดินทำกิน ปรับปรุงการศาล การตำรวจ และเส้นทางรถไฟ ขณะเดียวกันก็ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมทำเหมืองทองคำนอกจากนี้ มิลเนอร์หวังจะดึงดูดชาวอังกฤษให้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งมากขึ้นจะได้กลายเป็นชนส่วนใหญ่ใน แอฟริกาใต้ เขาจึงปฏิรูประบบการศึกษาโดยให้สอนวิชาต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษ แต่โครงการของเขาล้มเหลวเพราะแม้ว่าพวกบัวร์จะกลับเข้าไปทำมาหากินดังเดิมแต่ต่อต้านการปฏิรูปการศึกษาของมิลเนอร์ ชาวอังกฤษในแอฟริกาใต้หลายคนก็ละทิ้งถิ่นฐานเพราะเศรษฐกิจเสื่อมถอยมานานอันเนื่องมาจากภาวะสงคราม จำนวนชาวอังกฤษรุ่นใหม่ที่มิลเนอร์คาดหวังว่าจะย้ายเข้าไปก็น้อยมาก มิลเนอร์จึงหว่านล้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมของอังกฤษให้อนุญาตให้มีการนำแรงงานชาวจีนเข้าไปในแอฟริกาใต้เพื่อเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมเหมืองทองคำที่ขาดแคลนกำลังคนโดยทำสัญญาจ้าง ๓ ปี แรงงานกลุ่มแรกไปถึงเขตแร่ทองคำที่ เรียกว่าเขต "แรนด์" (Rand ย่อมาจาก Witwatersrand) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๔ แต่นโยบายส่งแรงงานชาวจีนเข้าไปในแอฟริกาใต้ทำให้สาธารณชนในอังกฤษไม่พอใจอย่างยิ่ง
     เมื่อพรรคอนุรักษนิยมที่มีอาเทอร์ บัลฟอร์ (Arthur Balfour)* เป็นผู้นำพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๖ และรัฐบาลชุดใหม่จากพรรคเสรีนิยมก็ปฏิเสธที่จะรับข้อเสนอแนะของมิลเนอร์ที่จะให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้ทรานสวาลมีรัฐบาลที่ เป็นตัวแทนของประชาชนแทนที่จะให้เพียงสิทธิปกครองตนเอง มิลเนอร์ซึ่งมีปัญหาสุขภาพจาก ความเครียดกับงานในแอฟริกาใต้มาได้ชั่วระยะหนึ่ง จึงตัดสินใจกลับอังกฤษในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๐๕ ก่อนหน้าวันเดินทางกลับ ๑ วัน มิลเนอร์ได้ไปปราศรัยที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg) ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันจรรโลงความมั่งคั่งให้แก่แอฟริกาใต้ ให้ชาวดัตช์และชาวอังกฤษได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน มิลเนอร์กล่าวด้วยว่าเขาปรารถนาให้ผู้คนระลึกถึงว่าเขาเป็นผู้ร่วมสร้างอาณานิคมแอฟริกาใต้ให้ไปสู่ระดับความเจริญที่สูงขึ้น ไม่ใช่แต่เพียงผู้นำในการฟื้นฟูดินแดนนี้หลังภาวะสงคราม
     เมื่อกลับไปอังกฤษ มิลเนอร์หันไปสนใจดูแลผลประโยชน์ทางธุรกิจของเขาในกรุงลอนดอน โดยเป็นประธานบริษัททำเหมืองสังกะสีรีโอตินโต (Rio Tinto Zinc Mining Company) แต่เขาก็ยังคงร่วมรณรงค์นโยบายการค้าเสรีในหมู่ประเทศในจักรวรรดิอย่างแข็งขัน และเริ่มเขียนหนังสือเรื่อง The Nation and the Empire ( ค.ศ. ๑๙๑๓) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๑๑ มิลเนอร์โจมตีร่างกฎหมายงบประมาณของเดวิดลอยด์ จอร์จและความพยายามของรัฐบาลเสรีนิยมที่จะทอนอำนาจของสภาขุนนาง มิลเนอร์กลายเป็นสมาชิกสภาขุนนางที่มีบทบาทสำคัญ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ หลังจากที่ลอยด์ จอร์จสามารถโค่นเฮอร์เบิร์ต เฮนรี แอสควิท(Herbert Henry Asquith)* จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ มิลเนอร์ก็ได้เข้าร่วมคณะมนตรีสงคราม (War cabinet) ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรี ๔ คนที่มีลอยด์ จอร์จเป็นผู้นำ มิลเนอร์เชื่อในการร่วมมือระหว่างประเทศพันธมิตร ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๗ เขาจึงไปประชุมกับกลุ่มประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) และใน เดือนมีนาคมปีต่อมา ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามก็เป็นผู้แทนอังกฤษไปฝรั่งเศสในช่วงที่เยอรมนีกำลังบุกหนักในยุโรป มิลเนอร์มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจรวมการบัญชาการรบของฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าด้วยกัน โดยให้มีการแต่งตั้งนายพลแฟร์ดินอง ฟอช (Ferdinand Foch)* ของฝรั่งเศสเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตร (Allied Generallissimo)
     ภายหลังสงครามโลก มิลเนอร์ก็ยังได้ร่วมอยู่ในรัฐบาลโดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมมิลเนอร์จึงได้เข้าร่วมการประชุมเจรจาสันติภาพที่พระราชวังแวร์ซายโดยเป็นผู้ลงนามคนสำคัญคนหนึ่งการรับใช้ชาติหนสุดท้ายของมิลเนอร์คือ การไปอียิปต์ระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ - เดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ เพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับอียิปต์หลังจากเกิดการจลาจลอย่างรุนแรง รายงานของมิลเนอร์ได้เป็นพื้นฐานในการจัดทำข้อตกลงระหว่าง ๒ ฝ่ายซึ่งใช้ปฏิบัติเป็นเวลาหลายปี อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลไม่สนใจข้อเสนอของมิลเนอร์ที่ว่าอียิปต์ควรจะได้เอกราชในรูปแบบที่ดัดแปลงไปบ้าง เขาจึงลาออกจากคณะรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๑ ในปีเดียวกันนี้ มิลเนอร์ในวัย ๖๗ ปีได้เข้าพิธีสมรสกับเลดีไวโอเลต จอร์เจียนา กาสคอยน์-เซซิล (Lady Violet Georgiana Gascoyne-Cecil) อดีตภรรยาของลอร์ดเอดเวิร์ด เซซิล (Lord Edward Cecil) ภายหลังการลาออกจากรัฐบาล เขายังคงทำงานให้กับกองทุนโรดส์ (Rhodes Trust) และรับเป็นประธานคณะกรรมาธิการศึกษาเรื่องอัตราภาษีศุลกากรพิเศษสำหรับประเทศในจักรวรรดิตามที่นายกรัฐมนตรีแสตนลีย์ บอลด์วิน (Stanley Baldwin)* เชื้อเชิญ แต่ข้อเสนอแนะของมิลเนอร์ไม่ได้มีโอกาสนำไปปฏิบัติ เพราะบอลด์วินและ พรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งต่อมา
     ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ มิลเนอร์จัดพิมพ์ผลงานเรื่อง Questions of the Hour ส่วนเอกสารของเขาที่มีชื่อว่า The Milner Papers ซึ่งได้รวบรวมภายหลังเขากลับมาจากแอฟริกาใต้ก็ได้ ซี. เฮดแลม (C. Headlam) มาทำหน้าที่บรรณาธิการระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๓๓ นอกจากนี้มีหนังสือที่เกี่ยวกับชีวประวัติของเขา ได้แก่ Lord Milner and the Empire ( ค.ศ. ๑๙๕๒) โดยวลาดีมีร์ ฮอลเพอริน (Vladimir Halperin) Milner ( ค.ศ. ๑๙๗๖) โดยจอห์น มาร์โลว์ (John Marlowe) และ Milner ( ค.ศ. ๑๙๗๙) โดยเทอเรนซ์ เอช. โอไบรอัน (Terence H. O’ Brien)
     อัลเฟรด มิลเนอร์ ไวส์เคานต์มิลเนอร์แห่งเซนต์เจมส์และเคปทาวน์ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหลับ (sleeping sickness) เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๕ ที่เมืองแคนเทอร์บิวรี (Canterbury) มณฑลเคนต์ (Kent) ขณะอายุ ๗๑ ปี โดยไม่มีทายาท จึงไม่มีผู้สืบต่อบรรดาศักดิ์ไวส์เคานต์ของเขา.


ต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอร์แลนด์ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอินเดียในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งในช่วงนี้เขาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นไวส์เคานต์เขาได้ร่วมมือกับเอิร์ลแห่งมินโต (Earl of Minto) อุปราชแห่งอินเดียปฏิรูปการเมืองอินเดียที่ เรียกว่า การปฏิรูปมอร์ลีย์-มินโต (Morley-Minto Reforms) ให้ชาวพื้นเมืองมีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้น
จอร์จ โจอาคิม โกเชน ไวส์เคานต์โกเชนที่ ๑ (George Joachim Goschen, 1st Viscount Goschen) เป็นบุตรชายของพ่อค้าในกรุงลอนดอนซึ่งสืบเชื้อสายเยอรมันเช่นเดียวกับมิลเนอร์เขาเคยเป็นนายธนาคารและสมาชิกสภาสามัญจากเขตเลือกตั้งกรุงลอนดอนสังกัดพรรคเสรีนิยมระหว่าง ค.ศ. ๑๘๖๕-๑๙๐๐ เมื่อพรรคนี้เกิดการแตกกลุ่มอันเนื่องมาจากนโยบายให้ไอร์แลนด์ได้สิทธิปกครองตนเอง (Irish home rule) โกเชนซึ่งไม่สนับสนุนการแยกตัวได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของลอร์ดซอลส์เบอรี (Lord Salisbury) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๗-๑๘๙๒ และได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารเรือระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๕-๑๙๐๐
พอล ครูเกอร์หรือสเตฟานูส โยฮันเนส โพอุเลิส ครูเกอร์ (Stephanus Johannes Paulus Kruger) เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ค.ศ.๑๘๒๕ ที่ ฟาร์มแห่งหนึ่งใกล้เมืองแครดอก (Cradock) ตำบลโคลส์เบิร์ก (Colesberg) ในเคปโคโลนีครอบครัวเป็นชาวนาบัวร์ยากจนที่ นับถือนิกายดัตช์คาลวินิสต์ (Dutch Calvinism) อย่างเคร่งครัดบิดาชื่อคัสเปอร์ ยาน เฮนดริก ครูเกอร์ (Casper Jan Hendrik Kruger)และมารดาชื่อเอลซี ฟรานซินา สไตน์ (Elsie Francina Steyn) เมื่อครอบครัวไม่มีที่ดินเลี้ยงชีพจึงโยกย้ายถิ่นหาที่ เลี้ยงสัตว์ไปเรื่อย ๆทางภาคตะวันออก ครูเกอร์เกลียดชังรัฐบาลอังกฤษที่ ยกเลิกระบบทาสเพราะพ่อแม่ของเขาเคยมีทาสไว้ใช้งาน ใน ค.ศ. ๑๘๓๖ ครอบครัวครูเกอร์ร่วมในการเดินเท้าครั้งใหญ่ (Great Trek)ที่ ชาวนาบัวร์ในเคปโคโลนีพากันเดินทางขึ้นเหนือไปตามแม่น้ำออเรนจ์เข้าสู่ดินแดนที่ ต่อมาเป็นเสรีรัฐออเรนจ์นาตาล (Natal) และทรานสวาล ในทศวรรษ ๑๘๓๐ เพื่อหนีอิทธิพลอังกฤษที่ เข้าครอบครองเคปโคโลนีแทนที่ เนเธอร์แลนด์ภายหลังสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)* ในที่ สุดครูเกอร์ได้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในทรานสวาลใน ค.ศ. ๑๘๕๐ และได้เป็นผู้นำทางทหารใน ค.ศ. ๑๘๖๓ ครูเกอร์ซึ่งได้รับยกย่อง ว่าเฉลียวฉลาด สุขุมและกล้าหาญ ได้เป็นตัวตั้งตัวตีในการต่อต้านความพยายามของอังกฤษที่ จะผนวกทรานสวาลใน ค.ศ. ๑๘๗๗ จนทรานสวาลได้เอกราชภายหลังสงครามแอฟริกาใต้ครั้งแรก ( ค.ศ. ๑๘๘๐-๑๘๘๑) ตามอนุสัญญาพริทอเรีย (Pretoria Convention) ค.ศ. ๑๘๘๑ ใน ค.ศ. ๑๘๘๓ ครูเกอร์ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลชั่วคราวอยู่ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้หรือซาร์ (South African Republic - SAR) หรือทรานสวาลซึ่งเป็นตำแหน่งที่ เขาดำรงไปจนถึง ค.ศ. ๑๙๐๐ เพราะได้รับเลือกตั้งต่อๆ มาอีก๓ ครั้งใน ค.ศ. ๑๘๘๕ มีการค้นพบทองคำในเขตแรนด์ (Rand) ในสาธารณรัฐแห่งนี้การทำเหมืองทองคำทำให้ประเทศมั่งคั่งอย่าง รวดเร็วและดึงดูดชาวผิวขาวอื่นๆที่ มิใช่พวกบัวร์เข้าไปสู่สาธารณรัฐเป็นจำนวนมาก แม้ครูเกอร์จะยอมรับแรงงานต่างชาติแต่เขาไม่ยินยอมที่ จะให้สิทธิทางการเมืองแก่ผู้อพยพเข้าไปใหม่และเก็บภาษีจากพวกเขาอย่างหนักซึ่งทำให้อังกฤษและนักจักรวรรดินิยมอย่างเซซิลโรดส์ ต้องการเอาประเด็นความไม่พอใจของชาวต่างชาติในทรานสวาลโค่นล้มครูเกอรเมื่อมิลเนอร์ไปเป็นข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำแอฟริกาใต้เขาจึงกดดันให้ครูเกอร์ปฏิรูปการเมือง แต่การเจรจาระหว่าง ๒ ฝ่าย ล้มเหลวจึงเกิดสงครามแอฟริกาใต้ครั้งที่ ๒ ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๙-๑๙๐๒ ขึ้นขณะที่ สงครามกำลังดำเนินอยู่กองกำลังอังกฤษได้เคลื่อน เข้าใกล้กรุงพริทอเรียในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๐ ครูเกอร์จึงหนีไปยุโรปเพื่อขอความช่วยเหลือจากประเทศต่าง ๆ โดยไปตั้งศูนย์ บัญชาการอยู่ที่ เมืองยูเทรคท์ (Utrecht) และเผยแพร่ The Memoirs of Paul Kruger, told by Himself ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ ณที่ นั้นครูเกอร์ จึงได้ประจักษ์ว่าเยอรมนีไม่สนใจในแอฟริกาใต้แล้วทั้งที่ ใน ค.ศ. ๑๘๙๖ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘-๑๙๑๘)* ทรงส่งโทรเลขอวยพรปีใหม่ให้แก่ครูเกอร์ (Kruger Telegram) ทรงแสดงความยินดีที่ เขาสามารถนำทรานสวาลโต้ตอบการจู่โจมของเจมสันได้ สำเร็จจนอังกฤษและครูเกอร์เข้าใจว่าเยอรมนีพร้อมที่ จะช่วยทรานสวาลทำสงครามกับอังกฤษในดินแดนแอฟริกาใต้ส่วนฝรั่งเศสแม้จะ เห็นใจที่ ทรานสวาลถูกอังกฤษรุกไล่แต่ก็ไม่มีท่าทีที่ จะดำเนินการใด ๆเมื่อขอความช่วยเหลือจากประเทศต่าง ๆ ไม่สำเร็จครูเกอร์จึงลี้ภัยอยู่ในเนเธอร์แลนด์จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๔ ได้ย้ายไปพำนักที่ บ้านพักตากอากาศริมทะเลสาบเจนีวาที่ เมืองกลารอง (Clarens) ในสวิตเซอร์แลนด์หลังจากประสบกับปัญหาสุขภาพ ไม่ดีมาได้ระยะหนึ่งพอล ครูเกอร์ซึ่งชาวทรานสวาลเรียกขานว่า “ลุงพอล [Oom (Uncle) Paul]” และมีฉายาว่า “บิดาแห่งชาติแอฟริกา (father of the Afrikaner nation)” และ “สิงโตเฒ่าแห่งทรานสวาล” (Old lion of Transvaal) ก็ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจ ณที่ นี้ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๔ ขณะอายุ๗๙ ปีศพของเขาถูกนำส่งไปยังเมืองเคปทาวน์ (Cape Town) และบรรทุกขึ้นรถไฟไปฝังที่ สุสานวีรชน (Heroes Acre) ณ กรุงพริทอเรียเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๔ โดยวางอยู่เคียงข้างหลุมศพภริยา [ครูเกอร์สมรสครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๘๔๒ กับมารีอา ดู เปลซี (Maria du Plessis) หลังจากเธอถึงแก่กรรมใน ค.ศ. ๑๘๔๖ ปีต่อมาครูเกอร์ได้สมรสกับเกซีนา ซูซานนา เฟรเดริโก (Gezina Susanna Frederiko) ซึ่งเป็นญาติกับภริยาคนแรก]

คำตั้ง
Milner (of Saint James’s and Cape Town), Alfred Milner, 1st Viscount
คำเทียบ
อัลเฟรด มิลเนอร์ ไวสเคานต์ มิลเนอร์ที่ ๑ แห่งเซนต์เจมส์และเคปทาวน์
คำสำคัญ
- มาร์โลว์, จอห์น
- โอไบรอัน, เทอเรนซ์ เอช.
- บัลฟอร์, อาเทอร์ เจมส์
- พริทอเรีย, กรุง
- สงครามแอฟริกาใต้
- สงครามบัวร์
- คิชเนอร์, ลอร์ดฮอเรชีโอ เฮอร์เบิร์ต
- วิลเลียมที่ ๒, ไกเซอร์
- แอฟริกาใต้หรือซาร์, สาธารณรัฐ
- แรนด์, เขต
- มารีอา ดู เปลซี
- ออยต์ลันเดอร์, พวก
- อนุสัญญาพริทอเรีย
- กลารอง, เมือง
- เฟรเดริโก, เกซีนา ซูซานนา
- สไตน์, เอลซี ฟรานซินา
- สิทธิปกครองตนเอง
- บลูมฟอนเทน
- เคปทาวน์, เมือง
- สงครามนโปเลียน
- เบชัวนาแลนด์
- โรสมีด, ลอร์ด
- โรดส์, เซซิล
- บัวร์, พวก
- ซอลส์เบอรี, ลอร์ด
- บอตสวานา
- ทรานสวาล, สาธารณรัฐ
- เชมเบอร์เลน, โจเซฟ
- เจมสัน, ลีนเดอร์
- เคปโคโลนี
- ครูเกอร์, สเตฟานูส โยฮันเนส โพอุเลิส
- โกเชนที่ ๑, จอร์จ โจอาคิม โกเชน, ไวส์เคานต์
- ครูเกอร์, พอล
- ครูเกอร์, คัสเปอร์ ยาน เฮนดริก
- การเดินเท้าครั้งใหญ่
- แฮร์โรว์, เขต
- การจู่โจมของเจมสัน
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- เฮสส์-ดาร์มชตัดท์, ราชรัฐ
- เยอรมันเหนือ, สมาพันธรัฐ
- ลอยด์ จอร์จ, เดวิด
- มิลเนอร์, ชาลส์
- มิดเดิลเซกซ์, มณฑล
- มินโต, เอิร์ลแห่ง
- มอร์ลีย์, จอห์น
- พรรคเสรีนิยม
- การปฏิรูปมอร์ลีย์-มินโต
- โกเชน, จอร์จ โจอาคิม
- กีสเซิน, เมือง
- สนธิสัญญาเวเรนิกิง
- มิลเนอร์, อัลเฟรด ไวส์เคานต์มิลเนอร์ที่ ๑ แห่งเซนต์เจมส์และเคปทาวน์
- แกสคอยน์-เซซิล, เลดีไวโอเลต จอร์เจียนา
- คณะมนตรีสงคราม
- เสรีรัฐออเรนจ์
- เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, นคร
- โจฮันเนสเบิร์ก, เมือง
- เซซิล, ลอร์ดเอดเวิร์ด
- บอลด์วิน, สแตนลีย์
- ฟอช, แฟร์ดีนอง
- แอสควิท, เฮอร์เบิร์ต เฮนรี
- พรรคอนุรักษนิยม
- ฮอลเพอริน, วลาดีมีร์
- แคนเทอร์บิวรี, เมือง
- เคนต์, มณฑล
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1854-1925
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๙๖-๒๔๙๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf